ผมร่วงเยอะมากเป็นสัญญาณของโรคอะไรหรือเปล่า เวลาสระผมหรือหวีผมแล้วหลุดออกมาเป็นกระจุกแบบนี้เสี่ยงป่วยไหม เช็กให้แน่ใจว่าสุขภาพเรายังโอเคหรือไม่กันแน่
ถ้าช่วงนี้สังเกตได้ว่า ผมร่วงเยอะมาก อาจจะมีความกังวลใจอยู่แน่ ๆ ว่า ผมร่วงเกิดจากอะไร จะใช่เพราะแพ้สารเคมี อย่างการทำสีผม ดัดผม ยืดผม หรือมัดผมบ่อย ๆ ไหม หรืออาการผมร่วงจะส่อเค้าถึงโรคบางอย่างหรือเปล่า เอาเป็นว่าลองมาเช็กว่าผมร่วงแค่ไหนผิดปกติ แล้วอาการผมร่วงเกิดจากอะไรได้บ้าง
ผมร่วงแค่ไหนผิดปกติ
เวลาที่สระผม หวีผมแล้วพบว่าผมร่วงเยอะมาก หรือเอามือสางผมก็ติดออกมาหลายเส้น ลักษณะนี้อาจจะรู้สึกว่าผมร่วงผิดปกติ แต่อย่าเพิ่งตื่นตูมไปไกล เพราะ ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า โดยปกติเราจะมีผมร่วงออกมาอยู่เสมอ และอาจร่วงประมาณ 100 เส้นต่อวัน ในวันที่ไม่ได้สระผม หรือวันที่สระผมอาจร่วงได้มากถึง 200 เส้น ดังนั้นหากจะเช็กความผิดปกติเราก็ต้องนับเส้นผมที่ร่วงในแต่ละวัน โดยมีวิธี ดังนี้
วิธีเช็กผมร่วงผิดปกติ
– เก็บเส้นผมทุกเส้นที่ร่วงออกมา รวบรวมใส่ถุงพลาสติกไว้ โดยเก็บทั้ง 5 เวลา เช้า สาย บ่าย เย็น และก่อนนอน
– เก็บเส้นผมติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แล้วมาเฉลี่ยว่าแต่ละวัน ผมของเราร่วงกี่เส้น ถ้าเกิน 100 เส้นเกือบทุกวันก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนต่อไป
ทั้งนี้ ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังเผยอีกว่า ผมร่วงสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น รูขุมขนบริเวณศีรษะไม่เสียหาย ผมยังสามารถงอกใหม่ได้ และผมร่วงแบบมีแผลเป็น กล่าวคือเซลล์หนังศีรษะเสียหายไปเลย ผมไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้อีก ซึ่งประเภทนี้มักจะเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือโรคบางโรค
ผมร่วงเยอะมาก บอกโรคอะไรหรือเปล่า ?
โดยปกติแล้ว ปัญหาผมร่วงเกิดได้จากหลายสาเหตุ หลัก ๆ ก็คือ เส้นผมและหนังศีรษะถูกแสงแดด หรือสารเคมีจากการทำสีมากเกินไปจนแห้งเสีย หรือบางคนชอบมัดผม ม้วนผมบ่อย ๆ ก็ทำให้รากผมอ่อนแอ และแม้แต่กรรมพันธุ์ผมบาง ศีรษะล้าน การรับประทานยาบางชนิดที่รบกวนการทำงานของเซลล์รากผม เช่น ยารักษาสิวบางกลุ่ม ยาคุมกำเนิด หรือการทำเคมีบำบัด ก็เป็นสาเหตุของผมร่วง
อย่างไรก็ตาม ภาวะผมร่วงมาก ๆ ในบางคน ก็อาจเกิดจากความผิดปกติในร่างกายบางอย่างที่เรากำลังป่วยอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งต้องสังเกตร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น
1. ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง
คุณแม่หลังคลอดจะรู้สึกว่าผมร่วงผิดปกติ ซึ่งสาเหตุนี้มาจากฮอร์โมนในร่างกายค่ะ ที่เวลาตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศอาจทำให้ผมหยุดเจริญชั่วคราว จนเราไม่รู้สึกว่ามีผมร่วงในระหว่างตั้งครรภ์ แต่หลังคลอดมาสักพัก ฮอร์โมนจะกลับสู่ภาวะปกติ การงอกของเส้นผมก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งเราจะเริ่มเห็นว่าผมมีการหลุดร่วงมากขึ้น
นอกจากนี้ในสตรีวัยทองที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ก็จะพบว่าผมร่วงเยอะขึ้น และผมที่งอกมาใหม่ก็เส้นเล็กและบางลง จนทำให้รู้สึกว่าผมร่วงเยอะมากจนเป็นปัญหาทางบุคลิกภาพ แต่สำหรับปัญหาทางสุขภาพอาจไม่น่าเป็นห่วงมากนัก และหากอยากรักษาอาการผมบางก็ทำได้ เพราะเซลล์เส้นผมยังไม่ถูกปิดตาย ยังงอกใหม่ได้อีก
2. ขาดโปรตีน
โปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญของการสร้างเส้นผม หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ หรืออยู่ในช่วงลดน้ำหนัก อาจทำให้ผมเปราะบาง อ่อนแอ เส้นผมเป็นสีจางสลับสีเข้ม และขาดหลุดร่วงได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ร่างกายขาดโปรตีนหนัก ๆ ผมก็จะร่วงทั่วทั้งศีรษะ รวมไปถึงเล็บก็จะค่อนข้างเปราะ หักง่าย
3. ขาดธาตุเหล็กและสังกะสี
การขาดสารอาหารประเภทธาตุเหล็กและสังกะสีก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นผมอ่อนแอ และในเคสที่ขาดสารอาหารหนัก ๆ ก็จะมีอาการผมร่วงทั่วทั้งศีรษะได้ เพราะทั้งธาตุเหล็กและสังกะสี เป็นสารอาหารสำคัญต่อเส้นผมของเราเช่นกัน
4. การรับวิตามินเอมากเกินไป
วิตามินเอมีสรรพคุณยับยั้งการเจริญของเซลล์ผิว ทำให้ผมหงอกช้า แต่หากกินวิตามินเอมากเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ ก็อาจกระตุ้นให้ผมร่วงมากผิดปกติ
5. โรคเครียด
ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมร่วงมาก เพราะเวลาที่ร่างกายเครียดก็จะส่งผลต่อระดับฮอร์โมน อีกอย่างความเครียดจะส่งผลให้อายุขัยของเส้นผมสั้นลงด้วยนะ
6. ปัญหาหนังศีรษะ
อย่างการมีรังแคก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงได้มากกว่าปกติ รวมไปถึงเชื้อราบนหนังศีรษะ โรคนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของผมร่วงด้วยค่ะ เพราะเมื่อมีเชื้อราหรือรังแคเรามักจะคันศีรษะ ทำให้ต้องเกา พอเกาบ่อย ๆ ก็กระตุ้นให้ผมร่วงได้เยอะขึ้นนั่นเอง
7. โรคดึงผมตัวเอง
โรคดึงผมเป็นอาการผิดปกติทางจิตชนิดย้ำคิดย้ำทำ คนที่ป่วยโรคนี้จะสังเกตได้ว่าผมหายเป็นหย่อม ๆ จากการดึงซ้ำ ๆ โดยเป็นได้ทั้งแบบดึงผมแบบไม่รู้ตัว และรู้ตัว อย่างไรก็ตาม หากพบว่าป่วยโรคนี้จริง ๆ ก็มีวิธีรักษาให้หายเป็นปกติได้
8. ไทรอยด์เป็นพิษ
อีกหนึ่งโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมสำคัญในร่างกาย โรคนี้สัญญาณแรก ๆ จะมีผมร่วงมากผิดปกติ อันเนื่องมาจากร่างกายจะขับไขมันออกมาทางผิวหนังมาก ทำให้หนังศีรษะมัน รากผมอ่อนแอ เป็นสาเหตุให้ผมร่วงได้ง่าย ซึ่งหากพบว่ามีอาการผมร่วงเยอะมาก ขนร่วง โดยเฉพาะหางคิ้ว ร่วมกับน้ำหนักตัวลด หรือเพิ่มผิดปกติ เหนื่อยง่าย เหงื่อออกเยอะ นอนไม่หลับ ก็ควรไปตรวจสุขภาพโดยเร็ว
9. ตับอักเสบ
หน้าที่ของตับอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนสารอาหารที่ร่างกายได้รับ ให้เป็นรูปแบบที่ร่างกายสามารถดึงไปใช้ยังส่วนต่าง ๆ ได้ ทว่าหากตับอักเสบ ทำงานผิดปกติไป ก็จะส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ผู้ป่วยโรคตับส่วนใหญ่จึงมีร่างกายซูบผอม เส้นผมเปราะบาง ขาด หลุดร่วงง่าย รวมไปถึงเล็บก็จะเปราะ หักง่ายด้วย
10. ซิฟิลิส
อาการซิฟิลิสระยะที่ 2 จะพบผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ทั่วศีรษะ ลักษณะคล้ายมอดแทะ ซึ่งหากพบอาการนี้ร่วมกับอาการซิฟิลิสอื่น ๆ เช่น มีผื่นสีแดงน้ำตาลขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตามตัว หรือพบหูดในบริเวณที่อับชื้น มีแผลริมแข็งที่อวัยวะเพศ ก็ควรรีบไปตรวจร่างกาย
11. โรคไต
ไตเป็นอวัยวะสำคัญในระบบการทำงานของร่างกาย มีหน้าที่ขับของเสียและปรับสมดุลระดับน้ำเกลือและแร่ธาตุต่าง ๆ ดังนั้นหากไตทำงานไม่ปกติ ร่างกายก็จะสูญเสียสมดุลแร่ธาตุไปด้วย เป็นเหตุให้เส้นผม ฟัน และกระดูกอ่อนแอ นอกจากนี้ไตยังมีหน้าที่สำคัญในการเก็บกักไขกระดูก ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการผลิตเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อไตทำงานผิดปกติ การสร้างเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ก็จะทำได้ไม่เต็มที่ และอาจส่งเลือดไปเลี้ยงเส้นผมได้ไม่ดีนัก จนทำให้เส้นผมเปราะบาง ไม่แข็งแรง และหลุดร่วงได้ง่ายกว่าปกติ
12. ภาวะอักเสบจากการติดเชื้อชนิดลุกลาม
การติดเชื้ออะไรก็ตามที่ก่อให้ร่างกายมีอาการอักเสบ และเป็นภาวะติดเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เคสนี้ก็อาจพบได้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงเยอะผิดปกติ และส่วนใหญ่จะเป็นผมร่วงชนิดที่ 2 ซึ่งไม่สามารถงอกใหม่ได้
13. ผมร่วงเป็นหย่อมจากภูมิแพ้รากผม
ผู้ป่วยจะมีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายรวน มีเซลล์เม็ดเลือดขาวมารบกวนรากผมจนทำให้เซลล์หยุดทำงาน เป็นเหตุให้เส้นผมหายเป็นหย่อม ๆ โดยผิวหนังบริเวณที่ไม่มีเส้นผมจะเรียบ ไม่พบตอเส้นผมหักหรือตุ่มที่ผิวหนัง และหากอาการรุนแรงจะพบว่าผมร่วงทั้งศีรษะ รวมทั้งขนตามตัวก็ร่วงด้วย
14. โรค SLE
โรค SLE หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง จะมีภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไปจนไปกำจัดเซลล์ที่โตเร็ว รวมทั้งเซลล์ผมด้วย ซึ่งจะทำให้มีอาการผมร่วง ผมบาง ตามมา อย่างไรก็ดี ภาวะผมร่วงของผู้ป่วยโรค SLE จะเป็นประเภทผมร่วงแบบมีรอยแผลเป็น คือรูขุมขนบริเวณหนังศีรษะเสียหาย จนไม่สามารถงอกผมขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งนี้ การจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค SLE หรือไม่ จะต้องมีอาการไข้เรื้อรัง มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า ปวดตามข้อ และอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
15. เนื้องอกและมะเร็ง
เนื้องอกของต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน รูขุมขน มะเร็งผิวหนัง รวมทั้งมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น อาจเป็นสาเหตุของผมร่วงชนิดมีแผลเป็นได้ นอกจากนี้การรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด หรือยาบางชนิด ก็อาจส่งผลข้างเคียงให้ผมร่วงมากกว่าปกติ เพราะยาเคมีบำบัดจะไปหยุดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย เช่น เซลล์รากผม ได้รับผลกระทบไปด้วย
ถ้าสงสัยว่าตัวเองผมร่วงผิดปกติไหม ลองนับเส้นผมที่ร่วงในแต่ละวันของตัวเองดูนะคะ และเมื่อใดก็ตามที่สังเกตเห็นความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาการผมร่วงในเคสที่รักษาได้ ยิ่งมาถึงมือหมอเร็วเท่าไร โอกาสในการรักษาก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น