“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นคำที่เราคุ้นหูกันมานาน เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ไม่เพียงทำให้เสียทรัพย์เพื่อนำไปในการรักษาตัวอย่างเดียว แต่ทั้งยังเสียโอกาสจะได้ใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป ทุกข์ทรมานจากอาการป่วย รวมถึงยังบั่นทอนกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่ออีกด้วย
โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งมีโอกาสจะป่วยเป็นมะเร็งต่าง ๆ ได้บ่อย เพื่อเป็นการให้ผู้หญิงได้รู้จักระมัดระวังและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้ เรามีความรู้มาฝาก
มะเร็งเต้านม
เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของหญิงไทย โดยสามารถพบผู้ป่วยได้ทุกช่วงอายุ แต่ความเสี่ยงต่อโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุโดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้ โอกาสที่จะป่วยเป็นมะเร็งยังมาจากพันธุกรรม ความผิดปกติทางพันธุกรรม รวมถึงการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตแบบทำร้ายสุขภาพต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม เต้านมเป็นตำแหน่งที่สามารถสังเกตเองได้ง่าย ด้วยการคลำเต้านมของตนเอง หากพบก้อนแข็ง ๆ มีลักษณะขรุขระ (บางรายอาจเป็นก้อนเรียบ) บางรายคลำเจอบริเวณรักแร้ แต่กดแล้วไม่เจ็บและไม่เคลื่อนตัว ทำผู้หญิงหลาย ๆ คนนิ่งนอนใจว่าไม่เจ็บก็คือไม่เป็นไร นิ่งนอนใจจนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้น รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่พบได้ที่เต้านม คือมีรอยบุ๋มคล้ายลักยิ้ม รูปร่างของเต้านมผิดไปจากเดิม อาจพบแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกจากหัวนม และยังอาจพบอาการบวมแดงคล้ายการอักเสบที่เต้านมด้วยเช่นกัน
หากสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านมจากการคลำแล้วพบก้อนเนื้อนั้น ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (mammogram) และอัลตราซาวด์ (ultrasound) ซึ่งจะให้ผลค่อนข้างแม่นยำ เพราะบางครั้งก้อนที่เจออาจเป็นเพียงเนื้องอกที่ไม่อัตราายถึงชีวิต โดยอาจพบก้อน หรือจุดหินปูนในเนื้อเต้านม หากสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เร็ว ก็จะลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
มะเร็งปากมดลูก
เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV : Human Papilloma Virus infection) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการไปสัมผัสเข้ากับเชื้อไวรัสตามที่สาธารณะ ในปัจจุบันพบเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงจะพัฒนามาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มีอยู่ประมาณ 14 สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 นี้ จะมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อเอชพีวีถึง 35 เท่าเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามมะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อเอชพีวี รวมถึงการฉีดวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันโรค นอกจากนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาเชื้อทุก ๆ 1-2 ปี ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
ที่สำคัญ ในเมื่อสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น จึงต้องลดปัจจัยเสี่ยงในส่วนนี้ด้วย ทั้งการมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ และระวังการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ในผู้หญิงไทย ก้อนมะเร็งเติบโตได้โดยการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งถ้าหากร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป หรือได้รับฮอร์โมนนี้จากแหล่งอื่น ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกับโรคมะเร็งเต้านม
โรคนี้จึงมักพบในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ดังนั้น ผู้ที่มีเลือดออกทั้งที่หมดประจำเดือนแล้ว ก็ต้องหมั่นสังเกตสุขภาพของตนเอง ส่วนในผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนอยู่บ่อย ๆ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมามากกว่าปกติ มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง หรือเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และอาจมีอาการมดลูกโตขึ้น ปวดท้องน้อย คลำเจอก้อนบริเวณท้องน้อย หรือมดลูกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือเบียดทวารหนักทำให้อุจจาระลำบาก ก็ต้องไปพบแพทย์
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ คือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน และมีประวัติทางพันธุกรรมว่าญาติสายตรงป่วยเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการเริ่มแรกของโรคมักจะไม่มีความผิดปกติที่สังเกตได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าโรคเริ่มลุกลาม จะมีอาการที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย คือ ท้องเสียสลับกับท้องผูกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปวดมวนในท้องเหมือนกับขับถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นเลือด และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหารจนน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือคลำเจอก้อนในท้องร่วมด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม หากมีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยได้ หรือหากเคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ รวมถึงมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี อย่างการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
การตรวจวินิจฉัย แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจอุจจาระ หรืออาจต้องถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์หรือเครื่อง CT-Scan เพื่อดูในช่องท้อง รวมถึงดูการทำงานของปอด ตับ ไต และกระดูกร่วมด้วย เพราะโรคสามารถลุกลามไปที่ตับและกระดูกได้ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
การป้องกันโรคแบบง่าย ๆ
โรคมะเร็งล้วนแล้วแต่คร่าชีวิตคนได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การป้องกันโรคร้ายเหล่านี้สามารถทำได้โดยการดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดละเลิก สุรา บุหรี่ รวมถึงพยายามอย่าให้ตนเองเครียดเรื้อรัง อีกทั้วต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เพื่อที่จะรู้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้เร็วว่าควรไปพบแพทย์หรือไม่ นอกจากนี้ การหมั่นตรวจสุขภาพทุก ๆ ปี ก็จะช่วยให้รู้ตัวได้เร็ว จะได้ทำการรักษาได้เร็วเช่นเดียวกัน
ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ที่กระตุ้นเซลล์ในร่างกายผู้หญิงให้ทำงานเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนเอสโตรเจนกลับเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนชนิดนี้จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตลอดช่วงอายุ ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน
แต่โอกาสเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้นั้น เกิดได้กับผู้หญิงที่มีร่างกายผลิตฮอร์โมนนานกว่าปกติ ซึ่งอาจจะเป็นเด็กที่เริ่มมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ หรือคนที่หมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ และผู้ที่ใช้ฮอร์โมนชนิดนี้เพื่อปรับฮอร์โมน รวมถึงได้รับยาคุมกำเนิดมากเกินไป ทำให้การทำงานของเซลล์ในร่างกายผิดปกติ