พระกรุวัดหนองกระทุ่ม ตำบลหนองนางนวล อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี พระกรุนี้ สร้างโดยหลวงพ่อเดช พระอาจารย์ยุคเก่าผู้เรืองวิทยาคมอีกรูปหนึ่ง ท่านได้สร้างพระเนื้อตะกั่วไว้หลายพิมพ์ด้วยกันแล้วบรรจุกรุ เป็นพระเครื่องที่องค์ไม่โตอะไรมากนักขนาดกะทัดรัดน่าห้อยคออย่างมาก ความเป็นมาของหลวงพ่อเดชนั้นไม่มีใครทราบรายละเอียดว่าท่านเป็นคนที่ไหน เท่าที่ชาวบ้านเล่าลือสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่าท่านเป็นพระที่มีความรอบรู้ทางไสยศาสตร์ ทางด้านปริยัติธรรม ทางด้านรักษาโรคต่างๆ ทางทำน้ำมนต์เก่งอย่างมาก ท่านต้องเป็นพระที่เก่งอย่างมากไม่อย่างนั้นแล้วการก่อสร้างเสนาสนะใดๆก็ดีจะไม่สำเร็จเอาอย่างง่ายๆ พระรูปนั้นต้องเก่งและมีคนให้ความเคารพนับถือ ชาวบ้านถึงได้มีความร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือก่อสร้าง
ความเป็นมาของวัดหนองกระทุ่ม วัดนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลนางนวล อำเภอหนองฉาง อยู่ที่ฝั่งซ้ายของถนนสายอุทัยธานี บ้านไร่ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง สร้างมาแต่สมัยใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน ประมาณว่าร่วมสามชั่วอายุคนแล้วก็ 150 ปีขึ้นไป บริเวณวัดหนองกระทุ่มนั้น ตอนนั้นห่างไกลความเจริญและกันดารอย่างมาก บ้านเรือนผู้คนมีไม่กี่สิบหลังคาเรือน วัดนี้ก็รกร้างไปบ้างบางคราว พระสงฆ์ที่มาปกครองดูแลทนความอดอยากยากแค้นไม่ไหวก็ต้องเดินทางไปอยู่วัดอื่น จนมาถึงสมัยพระอาจารย์เดชผู้มีความแก่กล้าทางด้านวิชาอาคมขลัง ท่านได้ก่อสร้างโบสถ์ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยไม้สัก สมัยนั้นหาไม้ง่ายในจังหวัดนี้หลังคามุงด้วยแฝก และกระเบื้องดินเผา
ด้วยกาลเวลาที่เนิ่นนาน สิ่งก่อสร้างได้ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างมาก เจ้าอาวาสสมัยนั้นท่านมาจากนครสวรรค์ได้ทำการบูรณะใหม่ก่อสร้างศาลาการเปรียญและโบสถ์ขึ้นใหม่ เมื่อทำการปรับพื้นดินขุดบริเวณโบสถ์จึงได้พบพระเครื่องเนื้อตะกั่วขึ้นในปี พ.ศ.2470 สมัยนั้นได้ให้ชาวบ้านบูชาองค์ละ 1 สตางค์ พระเครื่องที่พบในครั้งนั้นเอาขึ้นมาแล้วก็เอาบรรจุไว้ในกรุอีกส่วนหนึ่ง
พ.ศ.2519 โบสถ์ที่สร้างขึ้นก็ชำรุดทรุดโทรมลงอีก ท่านเจ้าอาวาสและชาวบ้านก็ร่วมใจกันรื้อและสร้างขึ้นมาใหม่ ท่านทำพื้นโบสถ์ให้สูงขึ้น เพราะพื้นเดิมนั้นน้ำจะท่วมได้ในฤดูน้ำและพอฝนตกลงมามากๆ ท่วมขังทำให้พื้นโบสถ์ทรุดตัวลงมาอีก การปรับพื้นครั้งนี้ได้พบพระเครื่องตรงหน้าพระประธานคะเนแล้วคงจะตรงที่พระอุปัชฌาย์ท่านนั่งพอดี พบพระเครื่องบรรจุในโอ่งดินเผาขนาดใหญ่จากหลักฐานอักษรที่จารึกในโอ่งดินระบุว่า ร.ศ.109 (พ.ศ.2433) การพบพระเครื่องครั้งที่สองนี้ ทางกรมศิลปากรได้เดินทางไปพิสูจน์ให้ข้อพิจารณาว่า พระกรุนี้มีอายุราวประมาณ 100 ปี เมื่อเทียบเคียงกับหลักฐานที่จารึกในโอ่งดินบรรจุพระว่า ร.ศ. 109 พ.ศ. 2433 มาถึงขณะนี้ก็เป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว
พระเครื่องที่พบนั้นส่วนมากจะดูคล้ายๆ พระกรุ จ.พิจิตร เพราะมีขนาดเล็กกระทัดรัด มีจำนวนมากกว่า 16 พิมพ์ บางพิมพ์มีขนาดโตหน่อยและมีความคมชัดเจนสวยงามผู้คนนิยม จะหายาก เนื้อเป็นเนื้อตะกั่ว มีทั้งที่ตัดขอบและไม่ตัดขอบ การบรรจุกรุในโอ่งดินเผาปิดผนึกแน่นหนา ทำให้น้ำดินเข้าไปไม่ได้ สนิมจึงไม่จัด มีแต่คราบนวลของกรุและอันเกิดจากคราบสนิมที่ทำปฏิกิริยากับเนื้อตะกั่ว พระกรุนี้เป็นพระเก่าแท้แน่นอนจากบรรดาเซียนและกรมศิลปากรยืนยัน
www.surepra.comชัวร์พระ.คอม