ยันต์แปดทิศ หรือ โป๊ย ข่วย (ปากั้วถู)
ยันต์แปดทิศ หรือ โป๊ย ข่วย (ปากั้วถู)
ใกล้ตรุษจีนแล้วก็ขอพูดถึงสัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวจีนที่เรารู้จักกันในชื่อ "ยันต์แปดทิศ" หรือ "โป๊ย ข่วย" (ปากั้วถู) ซึ่งแพร่หลายอยู่ในบ้านเรา โดยบางคนนำไปติดไว้หน้าบ้าน หรือทางสามแพร่ง ในลักษณะของการแก้ "ฮวงจุ้ย" โดยที่อาจจะยังไม่ทราบรายละเอียดนัก
"โป๊ยข่วย" หรือ "ปากั้วถู" เป็นผังสัญลักษณ์แห่งฟ้าและดินในลัทธิเต๋า มีต้นกำเนิดในคัมภีร์โบราณ "อี้จิง" ซึ่งมีอายุกว่า 5,000 ปีล่วงมาแล้ว
"อี้" หมายถึงความเปลี่ยนแปลงของจักรวาล อาจถอดตัวอักษรได้เป็นพระจันทร์กับพระอาทิตย์ เราเรียกกันว่า "หยินกับหยาง" หรือความมืดความสว่าง ความร้อนความเย็น หญิงกับชาย หรือฟ้ากับดิน
ต้นกำเนิดของอี้จิงเกิดขึ้นในสมัยจักร พรรดิอวี่ บ้านเมืองเกิดอุทกภัยร้ายแรง ปรากฏมีมังกรแบก "ภาพเหอถู" ผุดขึ้นมาจากแม่น้ำฮวงโห และมีเต่าวิเศษคาบ "ตำราลิ่วซู" ผุดขึ้นมาจากลำน้ำลั่วสุ่ย องค์จักรพรรดิได้นำแผนภาพและตำรามาประกอบกัน ปรับเปลี่ยนภูมิลักษณ์ของฟ้าดิน แก้ปัญหาขุนเขา ลำน้ำ ขจัดปัดเป่าอุทกภัยให้กับประชาชนได้สำเร็จ จึงเกิดเป็น "ตำราเหลียงซาน" ที่รวมความพิสดารอันมิอาจล่วงรู้และเปลี่ยนแปลงฟ้าดินสืบทอดกันต่อมา และเรียกในชื่อ "โจว อี้" และกลายเป็นคัมภีร์ "อี้จิง" ในที่สุด
ดังนั้น แผ่นภาพยันต์แปดทิศจึงเป็นผังความเปลี่ยนแปลงของจักรวาล โดยเชื่อว่าองค์จักรพรรดิจีนได้สังเกตลวดลายแผนผังบนหลังกระดองเต่าวิเศษ ผังดังกล่าวจึงสามารถใช้แก้ไขความบกพร่องของภูมิประเทศ และความเป็นไปในจักรวาล และยังสามารถใช้ทำนายทายทักความสัมพันธ์ของฟ้า ดิน และมนุษย์ได้
แผ่นยันต์โป๊ยข่วย หรือยันต์แปดทิศ ที่พบเห็นจะมีสัญลักษณ์ของหยิน-หยางอยู่ตรงกลาง และมีเส้นขีดล้อมรอบแปดทิศ ขีดเป็นรอยประ (--) และขีดเต็ม (-) เรียงจากบนลงล่างทิศละ 3 ชั้น "ขีดประ" หมายถึงหยิน "ขีดเต็ม" หมายถึงหยาง "ขีดบน" แทนฟ้า "ขีดกลาง" แทนมนุษย์ "ขีดล่าง" แทนดิน รวมกับธาตุทั้ง 5 อันได้แก่ ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ
เฉียน คือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตำแหน่งฟ้า หมายถึง พ่อ และการสร้างสรรค์
คุน คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตำแหน่งแห่งดิน หมายถึง แม่ และการยอมรับ
เจิ้น คือ ทิศตะวันออก ตำแหน่งสายฟ้า หมายถึง ลูกชายคนโต และการตื่นตัว
ซวิ่น คือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตำแหน่งลม หมายถึง ลูกสาวคนโต และความอ่อนโยน
ตุ้ย คือ ทิศตะวันตก ตำแหน่งทะเลสาบ หมายถึง ลูกสาวคนเล็ก และความร่าเริง
เกิ้น คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตำแหน่งภูเขา หมายถึง ลูกชายคนเล็ก และความสงบ
ขั่น คือ ทิศเหนือ ตำแหน่งน้ำ หมายถึง ลูกชายคนกลาง และความลึกลับ
หลี คือ ทิศใต้ ตำแหน่งไฟ หมายถึง ลูกสาวคนกลาง และการติดตาม
ด้วยหลักแห่งความสัมพันธ์ของจักรวาลและการเปลี่ยนแปลงของฟ้าดิน ทำให้ "ยันต์โป๊ยข่วย" สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จากไม่มีเป็นมี จากบวกเป็นลบ จากร้ายกลายเป็นดี จากทุกข์กลายเป็นสุข นับเป็นแผ่นภาพสำคัญตามความเชื่อแห่งลัทธิเต๋า ที่กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิก ชนคนไทยครับผม
คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง :โดย ราม วัชรประดิษฐ์
ข้อมูลจาก
ชัวร์พระ.คอมwww.surepra.com