รายละเอียดสินค้า
หลวงพ่ออ่อน ชุติมญฺโต
วัดจำปาทอง ตำบลโพประจักษ์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี
เอาเข้าจริงการสืบค้นหาประวัติพระเกจิอาจารย์บางครั้งก็ยากนัก เหตุเพราะการบันทึกประวัติของบ้านเรายังขาดความรู้ในด้านนี้ ดังนั้นเรื่องราวของประวัติพระเกจิอาจารย์บ้างท่านจึงไร้หลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน ยังมีแต่เพียงคำบอกเล่าสืบๆ กันมา
ที่สำคัญเลยบางครั้งนำเอาไปปะปนสับสนกับพระเกจิอาจารย์รูปอื่นๆ ด้วย
ดังเช่นเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่ออ่อน ชุติมญฺโณ นั้น หลายๆ ท่านคงได้เคยพบเห็นเหรียญนี้มาบ้าง แต่เป็นเหรียญที่รู้จักกันในนาม ‘เหรียญหลวงพ่ออ่อน วัดท้ายตลาด จังหวัดเพชรบุรี’ ไป ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนั้นไม่ใช่
เพราะฉายาที่บ่งบอกไว้บนเหรียญคือ ‘ชุติมญฺโต’ แต่สำหรับหลวงพ่ออ่อน วัดท้ายตลาด อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ฉายาของท่านคือ ‘จนฺทโชติ’ ที่ทราบเพราะเมื่อมีการสร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่ออ่อน วัดท้ายตลาด ในรุ่นหลัง ได้บ่งบอกชื่อท่านและฉายานามไว้ด้วย
ดังนั้น ‘หลวงพ่ออ่อน ชุติมนฺโต’ กับ ‘หลวงพ่ออ่อน จนฺทโชติ’ จึงเป็นพระเกจิอาจารย์คนละรูปกัน
บังเอิญได้เข้าไปในเพจของ ‘Yut singburi’ พบข้อมูลเกี่ยวกับหลวงพ่ออ่อน วัดจำปาทองน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยได้กล่าวถึงหลวงพ่ออ่อน วัดจำปาทอง ไว้ว่า
“ประวัติหลวงพ่ออ่อน ชุติมันโต (พ่วงโพธิ์) วัดจำปาทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี พระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง ท่านชาตะเมื่อ วันอังคาร เดือน ๑๒ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๒๖ มรณภาพเมื่อวันศุกร์ เดิอน ๙ ปีกุล พ.ศ. ๒๕๐๒ อายุ ๗๖ ปี ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสถึง ๓ วัด วัดจำปาทอง วัดท่าควาย (เสฐียรวัฒนดิษฐ์) วัดบันไดสามแสน จ.ลพบุรี สองวัดหลังนี้ท่านได้เป็นผู้สร้างอุโบสถให้ทั้งสองวัด โดยท่านเป็นผู้ลงมือสร้างร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งทั้งสองหลังนี้เป็นอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และสูงมาก ท่านเคยแสดงอภินิหารให้ลูกศิษย์ได้ประจักษ์กับตา โดยที่ท่านได้ร่วงนั่งร้านหน้าบันอุโบสถลงมา ถ้าเป็นคนปกติคงไม่รอดเพราะสูงมาก แต่ท่านเพียงแค่ลุกปัดตูดเดินไปเฉยๆ เป็นที่กล่าวขานกันมาในลูกศิษย์ปากต่อปาก”
แม้เพียรพยายามค้นหาประวัติท่านจากหลักฐานต่างๆ ไม่พบ แต่ข้อความจาก ‘Yut singburi) นับว่ามีคุณค่า อย่างน้อยก็ให้ได้ทราบว่ากิตติคุณของหลวงพ่ออ่อน วัดจำปาทอง ไม่ธรรมดาแน่
น่าเสียดายแต่ว่า เหรียญปั๊มรูปเหมือนของท่านกับถูกระบุว่าเป็นเหรียญรุ่น ๒ ของหลวงพ่ออ่อน วัดท้ายตลาด อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ไปอย่างงั้น และพบเห็นโดยทั่วไป
จึงต้องจดจำให้แม่นต่อไปว่า แท้จริงแล้วเหรียญนี้เป็นเหรียญปั๊มหลวงพ่ออ่อน ชุติมนฺโต วัดจำปาทอง ตำบลโพประจักษ์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี
วัดท่าควาย (เสฐียรวัฒนดิษฐ์) ภายหลังหลวงพ่อเชย มรณภาพไปในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มีเจ้าอาวาสครองวัดสืบมา คือ หลวงพ่ออู๊ด หลวงพ่อพุก จากนั้นจึงเป็นหลวงพ่ออ่อน ซึ่งเมื่อหลวงพ่ออ่อนดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอยู่นั้น เสนาสนะต่างๆ ภายในวัดได้จัดสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งที่บูรณะหรือสร้างทดแทนส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม หรือสร้างขึ้นใหม่ โดยเฉพาะอุโบสถได้สร้างขึ้นมาใหม่แทนของเดิมที่ทรุดโทรมลงมาก
โดยเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ครั้นเมื่อสร้างอุโบสถหลังใหม่เกือบสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ชาวบ้านได้ร่วมแรงกันย้ายพระพุทธรูปซึ่งหุ้มด้วยปูนประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารร้างกลางป่าช้าด้านหลังวัดมากว่า ๑๐๐ ปี ออกจากวิหาร เป็นเหตุให้เกิดรอยร้าวของปูนและได้กะเทาะออกจนเห็นเนื้อข้างในเป็นโลหะ จากนั้นจึงช่วยกันกะเทาะปูนที่หุ้มภายนอกออกทั้งหมด พบว่าเป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะที่ค่อนข้างสมบูรณ์และสวยงามมาก จากนั้นได้นำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถหลังใหม่
ต่อมาในสมัยที่พระครูวิจิตรสังวรคุณ (จำลอง) เป็นเจ้าอาวาสวัด ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้นำพระพุทธรูปองค์นี้ไปร่วมประกวดสมัยกึ่งพุทธกาล และได้รับรางวัลที่ ๑ ประเภทสวยงาม จากข้อมูลการประกวดครั้งนั้น จึงได้ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหล่อขึ้นด้วยสัมฤทธิ์ผสมทองคำ ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท
จึงกล่าวได้ว่าเป็นการพบพระพุทธรูปองค์สำคัญในยุคสมัยหลวงพ่ออ่อน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด
วัดบันไดสามแสน ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี สร้างเป็นวัดขึ้นมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐ พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่เนินเขาสมอคอน เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนทั่วไปว่าเป็นวัดร้าง แต่จากหลักฐานซากโบราณสถานที่พบเช่น ซากวิหารหน้าถ้ำ ซากอุโบสถเก่าที่เป็นสมัยอยุธยา และพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่กว่า พ.ศ. ๒๓๐๐
วัดบันไดสามแสนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๖ และมีพระอธิการเชื้อ ฉนฺทธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๓๕ และมีหลวงพ่ออ่อน ชุติมญฺโญ เป็นพระผู้อุปถัมภ์วัด
การได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นั้นแสดงว่าอุโบสถวัดบันไดสามแสนสร้างขึ้นใหม่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งประวัติหลวงพ่ออ่อนกล่าวไว้ว่าท่านได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างขึ้น
ส่วนความเป็นมาของวัดจำปาทองนั้นกล่าวว่า เดิมชื่อ ‘วัดแม่ทอง’ ตามชื่อผู้สร้างวัด คือ ‘แม่ทอง’ ซึ่งได้สร้างวัดนี้ขึ้นมาเพื่อให้ลูกชายบวชพระ เพราะสมัยก่อนยังมีวัดไม่มากนัก หลังจากที่บนไว้ว่า ถ้าลูกชายมีชีวิตรอดกลับมาจากการเกณฑ์ทหารที่เมืองวิเศษชัยชาญจะให้มาบวช
ต่อมาแม่ทองได้ตามมาพำนักที่วัดเพื่อดูแลลูกชายจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยความชราภาพ
สันนิษฐานว่าวัดจำปาทองน่าจะสร้างขึ้นประมาณสมัยอยุธยาตอนปลายแต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของวัดในช่วงนั้นไม่ปรากฏ จวบจนเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๐ มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดและจำพรรษาอยู่บนโคกพระนอนซึ่งเป็นวัดร้าง คือ วัดแม่ทอง แล้วได้บูรณะวัดจนเริ่มมีพระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษา จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดจำปาทอง’ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อ ‘บ้านจำปาทอง’ อันเป็นที่ตั้งวัด
นอกจากนี้วัดจำปาทองยังเป็นสถานที่เก็บรักษาเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จประพาสต้นทางชลมารคมาตามแม่น้ำน้อย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยเป็นเรือมาดเก๋งประเภทเรือแจว มีหลังคา ทำจากไม้ มีชื่อว่า เรือจำปาทองสิงห์บุรี
ถึงแม้จะสืบค้นประวัติได้ไม่มากมายนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าเหรียญนี้ไม่ใช่เหรียญหลวงพ่ออ่อน วัดท้ายตลาด อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี แต่เป็นเหรียญหลวงพ่ออ่อน วัดจำปาทอง เพราะชื่อที่ยืนยันได้บนเหรียญ คือ
‘หลวงพ่ออ่อน ชุติมญฺโต’
www.surepra.comชัวร์พระ.คอม